การจัดเก็บรายได้
1) การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่าง ๆ
ตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาลตำบล พ.ศ. 2497 ได้กำหนดให้การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นการจัดหารายได้ให้กับเทศบาลตำบลทุกแห่ง เทศบาลตำบลห้างฉัตรแม่ตาลดำเนินการจัดเก็บ ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนด เพื่อให้คณะผู้บริหารนำรายได้ดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมแผนงานโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการให้บริการทางสังคมแก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งภาษีที่ทำให้เทศบาลตำบลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดังต่อไปนี้
1.1) ภาษีอากรที่จัดเก็บเอง
1.1.1) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
1.1.2) ภาษีป้าย
1.1.3) ภาษีบำรุงท้องที่
1.1.4) อากรฆ่าสัตว์
1.2) จัดเก็บค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตต่าง ๆ ดังนี้
1.2.1) การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
1.2.2) การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย
1.2.3) การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ
1.2.4) สถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร
2) การยื่นแบบชำระภาษีประเภทต่าง ๆ
2.1) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเก็บจากเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ และที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นทั้งที่ให้เช่าทำการค้า ที่ไว้สินค้าทำประกอบการค้า อุตสาหกรรม โดยมีหลักการปฏิบัติ ดังนี้
2.1.1) ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นแบบแทน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
2.1.2) ต้องยื่นชำระภาษีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งการประเมิน
2.1.3) ไม่ยื่นแบบและชำระภาษีภายในกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มและต้องระวางโทษตามกฎหมาย
2.2) ภาษีบำรุงท้องที่
การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เก็บจากเจ้าของที่ดิน ผู้ครอบครอง หรือผู้มีกรรมสิทธิ์ตามเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ
โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนมกราคมของปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน โดยเทศบาลตำบล จะประกาศตีราคาปานกลางที่ดินให้ทราบทุก 4 ปี และชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี
โดยให้ปฏิบัติดังนี้
2.2.1) ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินขึ้นใหม่หรือจำนวนที่ดินเปลี่ยนแปลง ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้กรรมสิทธิ์
2.2.2) ไม่ยื่นแบบและชำระภาษีภายในกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มและต้องระวางโทษตามกฎหมาย
2.2.3) ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินควรตรวจสอบว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้ชำระภาษีถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ มิฉะนั้นต้องร่วมรับผิดชอบภาษีค้างชำระนั้นด้วย
2.3) ภาษีป้าย
ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น
เพื่อหารายได้ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษรภาพหรือเครื่องหมายที่เขียน สลักจารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ โดยกฎหมายได้กำหนดอัตราภาษีป้าย (ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร) ตามรายละเอียดดังนี้
2.3.1) อักษรไทยล้วน 3 บาท
2.3.2) อักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ/ภาพ/เครื่องหมายอื่น 20 บาท
2.3.3) ป้ายดังต่อไปนี้ 40 บาท
2.3.3.1) ไม่มีอักษรไทย
2.3.3.2) อักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้ หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
2.3.4) ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายได้เสียภาษีแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียเพิ่มขึ้นให้คิดอัตราตาม 1) 2) หรือ 3) แล้วแต่กรณีและให้เสียเฉพาะเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น
2.3.5) ป้ายใดที่เสียภาษีต่ำกว่า 200 บาท ให้เสีย 200 บาท